@ติดต่อ mcu_53@hotmail.com@ @ขออภัยกำลังปรับปรุง@

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหลักสูตร



ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหลักสูตร

                ความหมายของหลักสูตร 
                ความหมายของหลักสูตรของนักการศึกษาบางท่านได้กล่าวไว้ดังนี้
                ธำรง บัวศรี  (2542) ได้กล่าวว่า หลักสูตร หมายถึงประสบการณ์ทางการศึกษาที่โรงเรียนจัดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้รับการฝึกฝนอบรมในด้านต่างๆอย่างดีที่สุด จนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมของตนได้อย่างเป็นสุข

                กรมวิชาการ (2540) ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ใน 2 ลักษณะ คือ ควมหมายในวงกว้างและความหมายในวงแคบ ความหมายในวงแคบ หมายถึง วิชาหรือเนื้อหาวิชาต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เรียนในแต่ละชั้นเรียนว่าจะต้องเรียนอะไรบ้าง มากน้อยเพียงใด ความหมายในวงกว้าง หมายถึง ประสบการณ์ทั้งมวลที่โรงเรียนจัดให้นักเรียนทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ความรู้ มีทักษะ เกิดความคิดและทัศนคติที่ดี อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

                Carter V. Good (1973) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ 3 ประการ คือ ประการแรก
หลักสูตร หมายถึง เนื้อหาวิชาที่จัดไว้อย่างเป็นระบบเพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาสำเร็จ ได้รับประกาศนียบัตรในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง เช่น หลักสูตรสังคมศึกษา หลักสูตรพลศึกษา ประการที่สอง หลักสูตร หมายถึง เค้าโครงทั่วไปของเนื้อหาวิชาหรือสิ่งเฉพาะที่ต้องสอนซึ่งโรงเรียนจัดให้แก่เด็กเพื่อให้มีความรู้จบชั้นหรือรับประกาศนียบัตรเพื่อให้สามารถเข้าเรียนต่อในทางอาชีพต่อไป และประการสุดท้าย หลักสูตร หมายถึง กลุ่มวิชาและการจัดประสบการณ์ที่กำหนดให้ผู้เรียนได้เรียน ภายใต้การแนะนำของโรงเรียน

                Saylor และ Alexander (1974 อ้างถึงใน ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์, 2539) ได้กล่าวถึงหลักสูตรไว้ว่า เป็นแผนสำหรับจัดโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หรือจุดหมายที่ตั้งไว้โดยมีโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบ

                จากความหมายของหลักสูตรที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จึงพอสรุปความหมายของหลักสูตร ได้ว่า หลักสูตรมีความหมายครอบคลุมตั้งแต่เอกสาร แนวทางการจัดการศึกษาแต่ละระดับ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มวิชา ขอบข่ายของเนื้อหา โครงสร้าง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและรวมถึงมวลประสบการณ์ที่จัดให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ หรือบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรนั้นๆ

ความสำคัญของหลักสูตร

                สุมิตร คุณานุกร (2523) กล่าวถึง ความสำคัญของหลักสูตรดังนี้ การศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ การจัดการศึกษาที่จะให้บรรลุเป้าหมายนั้น หากปราศจากหลักสูตรเสียแล้วการจัดการศึกษาจะไม่มีวันสำเร็จลุล่วงไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้น หลักสูตรจึงมีความสำคัญ คือ เป็นแผนยุทธศาสตร์ของการศึกษาที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามต้องการ

                สันต์ ธรรมบำรุง(2527) กล่าวว่า ความสำคัญของหลักสูตร พอสรุปได้ดังนี้
1.             หลักสูตรเป็นแผนปฏิบัติงานหรือเครื่องชี้ทางปฏิบัติงานของครู เพราะหลักสูตรจะกำหนดจุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผลไว้เป็นแนวทาง
2.             หลักสูตรเป็นข้อกำหนดแผนการเรียนการสอน อันเป็นส่วนร่วมของประเทศ เพื่อนำไปสู่ความมุ่งหมายตามแผนการศึกษาของชาติ
3.             หลักสูตรเป็นเอกสารของทางราชการ เป็นบัญญัติของรัฐบาลเพื่อให้บุคคลที่ทำการเกี่ยวข้องกับการศึกษาปฏิบัติตาม
4.              หลักสูตรเป็นเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา เพื่อควบคุมการเรียนการสอนใสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ และยังเป็นเกณฑ์มาตฐานอย่างหนึ่งในการจัดสรรงบประมาณ บุคลากร อาคารสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ ฯลฯ ของการศึกษาของรัฐแก่สถานศึกษาด้วย
5.             หลักสูตรเป็นแผนดำเนินงานของผู้บริหารการศึกษา ที่จะอำนวยความสะดวกและควบคุมดูแลติดตามผลให้เป็นไปตามนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐด้วย
6.             ลักสูตรจะกำหนดแนวทางในการส่งเสริมความเจริญงอกงามและพัฒนาการของเด็กตามจุดมุ่งหมายของการศึกษา
7.             หลักสูตรจะกำหนดลักษณะและรูปร่างของสังคมในอนาคตได้ว่า จะเป็นไปในรูปใด
8.             หลักสูตรจะกำหนดแนวทางความรู้ ทักษะ ความสามารถ ความประพฤติที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม อันเป็นการพัฒนากำลัง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป
9.             หลักสูตรเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความเจริญของประเทศ เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน ประเทศใดจัดการศึกษาโดยมหลักสูตรที่เหมาะสม ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลง ย่อมได้กำลังคนที่มีประสิทธิภาพสูง


                อัญชลี สารรัตนะ (2544) ได้สรุปถึงความสำคัญของหลักสูตรในประเด็นต่างๆดังนี้
1.             หลักสูตรเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมกรเรียนการสอนของครูผู้สอน เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพของตนจนบรรลุตามจุดหมายองหลักสูตรที่กำหนดไว้ อีกทั้งครูผู้สอนยังได้แนวทางในการกำหนดจุดประสงค์ เนื้อหา และการประเมินผล เพื่อวางแผนการเรียนรู้ในกลุ่มสาระต่างๆ จนถึงการวางแผนกาจัดการเรียนรู้ในแต่ละชั่วโมง

2.             หักสูตรช่วยเสริมความเป็นเอกภาพของชาติ เพราะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนทุกคนในชาติได้ถูกกำหนดไว้ในหลักสูตรแม่บท และในขณะเดียวกันหลักสูตรสถานศึกษาก็ได้พัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการ ความจำเป็นของชุมชนโดยรอบสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาอาจได้กำหนดไว้เป็นเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงลงไป แต่ยังตั้งอยู่บนมาตรฐานการศึกษาของหลักสูตรแม่บท จึงสามารถกล่าวเจาะจงลงไปได้ว่า หลักสูตรเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างเอกภาพของชาติตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับชาติ


3.             หลักสูตรถือเป็นแผนแม่บทของสถานศึกษาในการวางแผนดำเนินงาน หรือกำหนดโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาให้เจริญก้าวหน้า พัฒนาผู้เรียนให้เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพตามความมุ่งหวัง ถ้าสถานศึกษาไม่มีหลักสูตรก็เสมือนกับขาดเข็มทิศในการเดินเรือให้ไปถึงเป้าหมายปลายทางนั่นเอง

4.             ผลพวงที่ได้จากหลักสูตรที่มีคุณภาพและวิสัยทัศน์จะส่งผลให้ประเทศชาติจะเกิดความเจริญก้าวหน้าและสงบสุข ผลพวงดังกล่าวคือเยาวชนที่ผ่านการศึกษาเล่าเรียนตามหลักสูตรกำหนดนั่นเอง หรืออาจกล่าวได้ว่า หลักสูตรเป็นตัวกำหนดสังคมในอนาคต ว่าจะเป็นในรูปแบบใด


5.             หลักสูตรที่มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมย่อมเป็นดัชนีชี้ถึงศักยภาพทางการศึกษาของชาติด้วย เพราะหลักสูตรที่ดีย่อมทันสมัย สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันและต่อเนื่องถึงอนาคต กระจกเงาบานใหญ่ที่สะท้อนสภาพของสังคมได้อย่างดีก็คือ หลักสูตรของชาตินั้นๆ


จากความสำคัญของหลักสูตรตามทัศนะของนักการศึกษาแต่ละท่าน จะเห็นว่า หลักสูตรเป็นแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อสร้างและพัฒนาคน โดยหลักสูตรจะกำหนดแนวทางการให้ความรู้ ทักษะความสามารถ ความประพฤติ ที่มีประโยชน์ต่อคนในสังคม ตามแผนการพัฒนาประเทศ หลักสูตรจะสะท้อนให้เห็นพัฒนาการค้านต่างๆของประทศ ถ้าประเทศใดมีหลลักสูตรที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ บุคลากรของประเทศนั้นย่อมมีการพัฒนาในทุกๆด้าน ซึ่งจะส่งผลต่อถึงการพัฒนาประเทศในอนาคต นอกจากนี้ หลักสูตรยังเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายนโยบายทางการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ เป็นแนวทางและเกณฑ์มาตรฐานทางการศึกษาสำหรับควบคุมการเรียนการสอนในแต่ละระดับ การที่จะทราบว่ากรศึกษาในระดับต่างๆจะดีหรือไม่ดีสามารถศึกษาได้จากหลักสูตรการศึกษาในระดับนั้นๆ



หลักสูตรสถานศึกษา
 ความหมายของหลักสูตรสถานศึกษา

                สถานศึกษาเป็นหน่วยงานที่จัดการศึกษาเป็นแหล่งของการแสวงหาความรู้ จึงต้องมีหลักสูตรเป็นของตนเอง คือหลักสูตรสถานศึกษาต้องครอบคลุมภาระงานการจัดการศึกษาทุกด้านหลักสูตรสถานศึกษาจึงประกอบด้วยการเรียนรู้ทั้งมวลเป็นประสบการณ์อื่นๆ ที่สถานศึกษาแต่ละแห่งวางแผนเพื่อพัฒนาผู้เรียนซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากร และผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา                           หลักสูตรสถานศึกษา เป็นแบบแผนหรือแนวทางหรือข้อกำหนดของการจัดการ ที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถโดยส่งเสริมให้แต่ละบุคคลพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตนรวมถึงระดับขั้นของมวลประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้สะสม ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติได้ประสบการณ์สำเร็จในการเรียนรู้ด้วยตนเอง รู้จักตนเอง มีชีวิตอยู่ในโรงเรียน ชุมชน สังคม และโลกอย่างมีความสุข 




ความสำคัญของหลักสูตรสถานศึกษา

จุดมุ่งหมายที่สำคัญของหลักสูตรสถานศึกษา คือ

                1. หลักสูตรสถานศึกษา ควรพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้อย่างมีความสุข เพื่อให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะการเรียนที่สำคัญๆ มีกระบวนการคิดอย่างมีเหตุมีผล มีโอกาสใช้ข้อมูลสารสนเทศ และเทคโนโลยีสื่อสาร หลักสูตรสถานศึกษาควรส่งเสริมจิตใจที่อยากรู้อยากเห็น สร้างความมั่นใจและให้กำลังใจในการเรียนรู้และเป็นบุคคลที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

2. หลักสูตรสถานศึกษาควรส่งเสริมการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ จริยธรรม สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความเข้าใจและศรัทธาในความเชื่อของตน ความเชื่อและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีอิทธิพลต่อบุคคลและสังคมสถานศึกษาควรต้องพัฒนาหลักคุณธรรมและความอิสระของผู้เรียน มีความพร้อมในการเป็นผู้บริโภคที่ตัดสินใจแบบมีข้อมูลและเป็นอิสระเข้าใจในความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมโดยรวม สามารถช่วยพัฒนาสังคมให้ความเป็นธรรม มีความเสมอภาค มีความตระหนัก เข้าใจ และยอมรับที่ตนดำรงอยู่ได้ ยึดมั่นในข้อตกลงร่วมกันต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระบบส่วนตนระดับท้องถิ่นระดับชาติและระดับโลก


ความจำเป็นของหลักสูตรสถานศึกษา

                สถานศึกษาจำเป็นต้องจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาตามกรอบของหลักสูตรแกนกลางที่กรมวิชาการกำหนดไว้ พระราชบัญญัติสถานศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้                           มาตรา 27 ระบุข้อความที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของสถานศึกษา ในการนำหลักสูตรไปใช้โดยตรง ซึ่งกำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแนวทางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาในชุมชนและสังคม  ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ                           จะเห็นว่าในวรรคที่สอง เป็นการกำหนดแนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสถานศึกษา โดยให้สถานศึกษาจัดทำสาระของหลักสูตร จากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาในชุมชนและสังคมภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติ รวมทั้งทำหลักสูตรให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียน                        
                  (  มนนิภา ชุติบุตร. 2538 : หน้า 16 – 18) ได้เสนอแนวทางการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปใช้ในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาดังนี้                
                1.เน้นการศึกษา วิเคราะห์ ทำความเข้าใจวิธีคิดและความคิดของภูมิปัญญาท้องถิ่น               
                2. นำกระบวนการหรือแนวคิดของภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดทำหลักสูตสถานศึกษา               
                3.  นำกระบวนการคิดของภูมิปัญญาชาวบ้านมาเสริมสร้างให้สอดคล้องกับแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์               
                4.  สร้างกระบวนการคิดหลายด้านหลายมุมโดยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิดอย่างอิสระแล้วเชื่อมโยงกับชีวิตจริง                 
5. ให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตร                ตามหลักการของหลักสูตรนั้น หลักสูตรที่สร้างขึ้นจำเป็นต้องมีความสอดคล้องกับสภาพปัญหา และสนองความต้องการของสังคมที่ใช้หลักสูตรนั้นๆ
โดยเหตุนี้หลักสูตรที่สร้างขึ้นมุกมุ่งหมายในการใช้ในชุมชนแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะ ก็ย่อมสามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้มากที่สุด ท้องถิ่นและชุมชนมีสภาพที่แตกต่างกัน การพัฒนาแต่ละท้องถิ่นก็ต้องมีความแตกต่างกันเทคโนโลยีเจริญเร็ว จะทำหลักสูตรระดับชาติไปใช้กับท้องถิ่นก็ไม่ทันกับความเจริญของเทคโนโลยี สถานศึกษาจึงต้องจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาเอง

องค์ประกอบของหลักสูตรสถานศึกษา

หลักสูตรสถานศึกษา ควรประกอบด้วยหัวข้อสำคัญๆ ดังนี้ 
1.  ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสถานศึกษา    
                1.1 ประวัติของโรงเรียน ประวัติที่ตั้ง ขนาด จำนวนพื้นที่ ลักษณะ การจัดตั้ง สถานภาพของสถานศึกษา ระดับการศึกษาที่เปิดสอน จำนวนนักเรียน ความสามารถพิเศษ จำนวนห้องเรียนและห้องปฏิบัติกิจกรรม อัตราการย้ายเข้าออกของนักเรียน    
                 1.2 ศักยภาพของสถานศึกษา จุดเด่น จุดด้อย โอกาส ปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาสถานศึกษา ความสำเร็จ ความภาภูมิใจของสถานศึกษา    
                1.3 ความต้องการของชุมชน ความต้องการเกี่ยวกับอาชีพ การศึกษาต่อ ความต้องการของชุมชนเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา   
                 1.4 แนวโน้มการพัฒนาท้องถิ่น สภาพเศรษฐกิจของชุมชน และผู้ปกครอง สภาพสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน สภาพทรัพยากร จำนวนประชากรในเขตพื้นที่บริการ   
                1.5 แนวทางการจัดการศึกษา ทิศทาง ข้อความระบุวิสัยทัศน์ กระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมายสถานศึกษา ความสอดคล้องของวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมายของสถานศึกษา   
                1.6 การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการนักเรียนจำนวนครั้งเข้าร่วมในรอบปี รายชื่อคณะกรรมการที่เข้าร่วม สาระสำคัญของการประชุม โครงสร้างการบริหารงานของคณะกรรมการ
2.  สารสนเทศที่เกี่ยวกับผู้เรียน    
                2.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน    
                2.2 คุณลักษณะอันพึงประสงค์    
                2.3 ผลงานการแสดงออกของผู้เรียน
3. สารสนเทศของการบริหารงานอาชีพ     
                3.1 หลักสูตรและการเรียนการสอน จำนวนชั้นเรียน จำนวนรายวิชาที่เปิดสอน เวลาเรียนแต่ละกลุ่มวิชา      
                3.2   ความสอดคล้องของหลักสูตรกับความต้องการของท้องถิ่น     
                3.3   เทคนิควิธีการสอนที่ครูนำมาใช้     
                3.4 ร้อยละของรายวิชาที่ปรับสาระการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชน                  
                3.5   การมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน       
                3.6   บรรยากาศการเรียนการสอน    
                3.7   การวัดและประเมินผลการเรียน             
                                3.7.1ความถูกต้องครบถ้วนเป็นปัจจุบันเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานการประเมินผลการเรียน            
                                 3.7.2   ความหลากหลายในวิธีการและการใช้เครื่องมือการประเมิน             
                                3.7.3   การมีส่วนร่วมในการวางแผนวัดและประเมินผลการเรียน             
                                3.7.4   การนำผลการวัดและการประเมินผลการเรียนไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียน     
                3.8  การพัฒนากิจกรรมแนะแนว            
                                3.8.1   สภาพการจัดบริการแนะแนว             
                                3.8.2   ผลการจัดบริการแนะแนว     
                3.9  การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน             
                                3.9.1   การเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน             
                                3.9.2   ผลการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  
4. สารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ     
                4.1 สภาพการบริหารและการจัดการ       
                                4.1.1 ความสอดคล้องระหว่างวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมายการพัฒนา ความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมายรายงานกระบวนการพัฒนาวิสัยทัศน์การกำหนดภารกิจและเป้าหมาย  
                                 4.1.2 ความสัมพันธ์ระหว่างแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษากับวิสัยทัศน์และภารกิจ ข้อความเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมายการพัฒนา แผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา รายงานผลความสำเร็จของการดำเนินการตามแผน
               4.1.3 ภาวะผู้นำและการบริหาร ข้อมูลที่ที่แสดงการเปิดโอกาสให้บุคลากรมีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลและการตัดสินใจ ข้อมูลแสดงการสับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ตามวาระ ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความพึงพอใจในการบริหารจัดการ 
                4.1.4 การจัดโครงสร้างองค์กร ข้อมูลการจัดบุคลากรตามหน้าที่การยอมรับในหน้าที่และความรับผิดชอบในการได้รับมอบหมาย ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบ่งหน้าที่ของบุคลากรในสถานศึกษ
                4.2   สภาพและบรรยากาศโดยเรียนรู้   
                                4.2.1  การมาเรียนของนักเรียนในแต่ละภาค 
                                 4.2.2  ความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการเรียนการสอนของสถานศึกษา 
                                4.2.3   การให้บริการด้านสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยในโรงเรียน
                4.2.4   สภาพการจัดแหล่งการเรียนรู
                                4.2.5   การใช้เทคโนโลยีในแต่ละประเภท   
                4.3   ทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก              
                                4.3.1   สัดส่วนและงบประมาณพัฒนาคุณภาพแต่ละระดับการศึกษา              
                                4.3.2   งบประมาณการศึกษาต่อคนต่อปีแต่ละระดับการศึกษา              
                                4.3.3   ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา              
                                4.3.4   การใช้งบประมาณตามแผน              
                                4.3.5   การบริหารงบประมาณ  
                4.4   การพัฒนาวิชาชีพ          
                                 4.4.1   ร้อยละของครูที่ทำวิจัยในชั้นเรียน          
                                4.4.2   จุดเน้นของการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนในรอบปี         
                                4.4.3   ร้อยละของบุคลากรที่ได้รับการประชุมอบรม         
                                4.4.4   ผลงาน เกียรติบัตร รางวัลที่ครู ผู้เรียนได้รับในรอบปี        
                                4.4.5   ร้อยละของบุคลากรที่จัดทำแฟ้มพัฒนางาน        
                                4.4.6   ร้อยละของจำนวนครูที่ได้รับการนิเทศแยกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้        
                4.5   ความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครองและชุมชน       
                                4.5.1   การเปิดโอกาสให้บุคลากรภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม    
                                 4.5.2   การรับการสนับสนุนตามการศึกษาจากหน่วยงานอื่น      
                                4.5.3   การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน



การเตรียมความพร้อมในการใช้หลักสูตร

1. การเตรียมความพร้อมด้านเอกสารประกอบหลักสูตร

กระทรวงศึกษาธิการ(2534) ได้เขียนในคู่มือหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2533) ว่า เอกสารหลักสูตรที่บอกแนวทางในการจัดการศึกษาและการนำหลักสูตรไปใช้ให้บรรลุเป้าหมาย กรมวิชาการเป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์ออกเผยแพร่ ดังนี้ คู่มือครู แนวการสอน คู่มือแนวการประเมินผลการเรียน และคู่มือการจัดกิจกรรมลูกเสือเนตรารี-ยุวกาชาด และผู้บำเพ็ญประโยชน์

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2545) ได้จัดทำเอกสารประกอบหลักสูตร 6 รายการ เพื่อสถานศึกษานำไปใช้เป็นแนวทางประกอบการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาและจัดการเรียนรู้ให้เกิดกับผู้เรียนได้ตรงตามจุดหมาย และเจตนารมณ์ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้แก่
1.             แนวทางการจัดทำหลักสูตรของสถานศึกษา
2.             คู่มือการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
3.             คู่มือการบริหารจัดกรแนะแนว
4.             คู่มือพัฒนาสื่อการเรียนรู้
5.             แนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
6.             การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพ้นฐาน

ดังนั้นก่อนที่จะนำหลักสูตรไปใช้ทางโรงเรียนหรือสถานศึกษาต้องมีการจัดเตรียมเอกสารประกอบหลักสูตรต่างๆนี้ให้ครบถ้วน เพื่อจัดไว้ให้ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักสูตรไปใช้ได้ศึกษาหาความรู้ และทำความเข้าใจกับแนวทางต่างๆที่กำหนดไว้ในหลักสูตรให้เป็นแนวทางเดียวกัน



2.การเตรียมความพร้อมด้านบุลากร

                สงัด อุทรานันท์ (2529) กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเป็นงานที่สำคัญมาก ก่อนที่จะนำหลักสูตรไปใช้ควรจะได้ให้ความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคลากรผู้ใช้หลักสูตรให้เข้าใจ จุดหมาย หลักการ โครงสร้างแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผล ซึ่งการเตรียมบุคลากรควรประกอบด้วย
 1)การสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรที่จะให้การเรียนการสอนบรรลุเป้าหมาย โรงเรียนควรจะได้มีการเตรียมครูก่อนเข้าชั้น ดังนี้
(1) จัดประชุม ชี้แจงหลักสูตร แผนการสอน กิจกรรมที่จะใช้ในการสอนแต่ละระดับให้เปที่เข้าใจ
(2) จัดสัมมนาให้ความรู้ทางด้านวิชาการ เพื่อให้เกิดความเข้าใจหลักสูตร หลักการสอน แผนการสอนเนื้อหาวิชาและกิจกรรมที่จะใช้สอน
(3) จัดประชุมปฏิบัติการเพื่อให้มีความเข้าใจ มองเห็นปัญหา เตรียมการแก้ปัญหาเพื่อให้ครูมีความมั่นใจในการสอน
(4) จัดให้มีการสาธิตการสอน จัดอุปกรณ์การสอน จัดตารางสอนร่วมกัน ผลัดเปลี่ยนกันดูการสาธิต ให้ข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
(5) จัดศึกษานอกสถานที่ เพื่อเปิดโอกาสให้ครูได้มีประสบการณ์มากขึ้น จากการศึกษาดูงานโรงเรียนอื่นๆ ศึกษาสภาพแวดล้อมท้องถิ่นเพื่อทราบถึงสภาพปัญหาท้องถิ่น เพื่อนำมาสอนให้ตรงกับความเป็นอยู่ของเด็กในท้องถิ่นนั้นๆด้วย
(6) รวบรวมอุปกรณ์และแหล่งวิชาการ ตลอดจนวิทยากรต่างๆ ในทุกๆด้านที่จะส่งเสริมการเรียนการสอนได้
2)การจัดครูเข้าสอน
                กรมสามัญศึกษา (2526) ให้ความหมายของการจัดครูเข้าสอนว่า การจัดและดำเนินการเกี่ยวกับการสรรหาและกลวิธีการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมกับความรู้ ความสามารถ ความสนใจ ความถนัด และประสบการณ์ รวมทั้งสมารถพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบต่องานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้วางแนวทางในการจัดครูเข้าสอนไว้ดังนี้
(1)       สำรวจความพร้อมของโรงเรียนก่อนเปิดเรียน
(2)       กำหนดคุณสมบัติของครูผ้สอนรายวิชาในแผนการเรียน
(3)       จัดตามความถนัดของครูผู้สอน (จัดตามวิชาเอก วิชาโท ตามความสนใจ ความสามารถ หรือตามรายวิชาที่มีประสบการณ์)
(4)       การแก้ปัญหาการขาดแคลนครู โดยจัดครูคนเดียวให้สามารถสอนได้หลายวิชา จัดครูสนับสนุนการสอนช่วยปฏิบัติการ หรือจัดคาบเรียนให้ตรงกัน เป็นต้น
(5)       จัดหาบุคลากรภายนอกมาช่วยสอนในโรงเรียน
(6)       จัดครูสอนแทนเมื่อครูไม่มาทำการสอน
3)การจัดตารางสอน ควรยึดหลักดังนี้
                การจัดตางสอน ไม่ควรให้ช่วงเวลาเท่ากันหมด เพราะครูจะต้องใช้เทคนิควิธีสอนหลายๆแบบตามความเหมาะสม และต้องฝึกกระบวนการ ต้องศึกษากำหนดการสอนในแต่ละช่วงเวลาซึ่งต้องมีการเรียนการสอนหลายๆเรื่องจากประสบการณ์ต่างๆ ให้มีการเรียนการสอนที่ต้องเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันให้เหมือนกับชีวิตจริง
(1)       จัดช่วงเวลาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความสนจของผู้เรียน
(2)       จัดช่วงเวลาให้มีโอกาสฝึกทักษะหลายๆช่วง และฝึกบ่อยๆ จะช่วยให้การฝึกทักษะนั้นพัฒนาอย่างรวดเร็ว
(3)       กำหนดวันเปิด-ปิด ภาคเรียนในปีหนึ่งๆให้มีเวลาเรียนตลอดปีไม่น้อยกว่า 200 วัน แล้วจัดตารางสอนให้สัมพันธ์กัน
(4)       จัดช่วงเวลามากน้อยตามความเหมาะสม

3.การเตรียมความพร้อมด้านสื่อการสอน

                บรรจง พงศ์ศาสตร์ (2534) ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากหลักสูตรมุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนรู้จักคิด มีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติ ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมอันพึงประสงค์ มีนิสัยรักการอ่าน และสนใจหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ในการเรียนการสอนผู้สอนควรใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมกับเนื้อหาและจุดประสงค์ที่ต้องการให้เกิด เช่น หนังสือ เทป แผ่นโปร่งใส วีดีโอ แหล่งวิยากร แหล่งทรัพยากรต่างๆ และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ศึกษาจากหนังสือหลายๆเล่ม หรือศึกษาจากบุคคลที่มีความรู้ด้านต่างๆ
                กรมสามัญศึกษา (2534) ได้เสนอแนะแวทางให้ผู้บริหารได้พิจารณาจัดบริการอุปกรณ์การสอน ดังนี้
1)            การจัดศูนย์บริการโสตทัศนอุปกรณ์เพื่อบริการสายวิชาต่างๆ
2)            จัดแหล่งวัสดุปกรณ์ตามลักษณะวิชานั้นๆ
3)            การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ทันมัย และปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์ทีมีอยู่แล้วให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้อยู่เสมอ
4)            การสำรวจวิเคราะห์ความต้องการวัสดุอุปกรณ์ในรายวิชาต่างๆ
5)            การฝึกอบรมครูประจำการให้ความรู้ ทักษะในการใช้และบำรุงรักษา สื่อวัสดุ อุปกรณ์
6)            กระตุ้นให้ครูสนใจในการใช้วัสดุอุปกรณ์การสอนให้มากยิ่งขึ้น
4. การเตรียมความพร้อมด้านการประชาสัมพันธ์หลักสูตร
                ธำรง บัวศรี(2542) ได้กล่าวไว้ว่า ในการนำหลักสูตรไปใช้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ต้องมีการเตรียมการในด้านต่างๆดังต่อไปนี้
1)            การประชาสัมพันธ์หลักสูตร ทำได้หลายรูปแบบ เช่น การแจกเอกสาร สิ่งตีพิมพ์ การใช้สื่อมวลชน การประชุมสัมมนา เป็นการบอกกล่าวให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคืออะไร จะมีประโยชน์อย่างไร และจะมีผลกระทบต่อบทบาทหน้าที่ขงเขาอย่างไร
2)            การเตรียมบุคลากร ได้แก่ ครูผู้สอน และผู้บริหารสถานศึกษา
(1)       การเตรียมครูผู้สอน ครูผู้สอนเป็นผู้นำเอาหลักสูตรไปใช้ในห้องเรียนกับผู้เรียนจริงๆ ผู้ที่รับผิดชอบจะต้องเตรียมรูให้พร้อมทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตร ทักษะในกรใช้หลักสูตร และเจตคติที่พึงมีต่อหลักสูตร การเตรียมครูผู้สอนอาจทำได้หลายวิธี เช่น การจัดประชุมสัมมนา การอบรม การประชุมปฏิบัติการ เป็นต้น
(2)       การเตรียมผู้บริหาสถานศึกษา ผู้บริหารเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดครูผู้สอน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจในหลักสูตรให้มาก เพราะเป็นผู้ที่ควบคุมกำกับ แนะนำและส่งเสริมครูให้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ การเตรียมผู้บริหารต้องทำทั้งในด้านความรู้ ความเข้าใจหลักสูตร และในด้านการวิเคราะห์ว่าความรู้ความสามารถ ทักษะและเจตคติที่ครูมีอยู่แล้วนั้นเหลื่อมล้ำกันมากน้อยเพียงใด และจะขจัดส่วนที่แตกต่างกันได้อย่างไร
(3)       การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน เครื่องมืออุปกรณ์และอาคารสถานที่หลักสูตรใหม่ย่อมต้องการสิ่งใหม่ๆหลายอย่าง ดังนั้นจะต้องมีการจัดหาไว้ให้พร้อม โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของโรงเรียนและท้องถิ่น
(4)       การเตรียมระบบบริหารของสถานศึกษา ตลอดจนระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน หรือสถานศึกษาที่มีใช้อยู่นั้น  ช่วยในการใช้หลักสูตรคล่องตัวหรือไม่ ถ้ามีอะไรติดขัดไม่สะดวกก็ควรแก้ไข
(5)       การเตรียมงบประมาณค่าใช้จ่าย ปัญหาในการวางแผนงบประมาณก็คือ จะใช้อย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ประหยัดและมีประสิทธิภาพ
(6)       การเตรียมชุมชนและสังคม การที่ชุมชนและสังคมจะสนับสนุน ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจและตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของหลักสูตร จึงต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบและถูกต้องเหมาะสม
จาการเตรียมความพร้อมในการใช้หลักสูตร เป็นการเตรียมการในด้านต่างๆของโรงเรียนเพื่อให้การนำหลักสูตรไปใช้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามเจตนารมณ์ของหลักสูตรนั้นๆ ซึ่งอาจเตรียมความพร้อมในด้านการประชาสัมพันธ์ หลักสูตร บุคลากร สื่อ วัสดุอุปกรณ์และอาคารสถานที่ ระบบบริหารของสถานศึกษา งบประมาณ สภาพแวดล้อมของโรงเรียน และชุมชน/ท้องถิ่น


สภาพและปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตร

1.  สภาพและปัญหาในการเตรียมความพร้อมในการใช้หลักสูตร
                1.  สภาพการเตรียมความพร้อมในการใช้หลักสูตร
                โรงเรียนนำร่องและโรงเรียนเครือข่าย  ส่วนใหญ่มีการประชาสัมพันธ์หลักสูตร  โดยการประชุมชี้แจงให้แก่คณะครู  นักเรียนผู้ปกครอง  คณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ   เกี่ยวกับนโยบายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน   การจัดการเรียนการสอน  ตลอดจนโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียน  และยังประชาสัมพันธ์หลักสูตรโดยใช้วิทยุกระจายเสียง  แผ่นพับ  จัดทำเป็นวารสาร  ส่วนการเตรียมบุคลากรนั้นได้ให้ครูและผู้บริหารเข้ารับการอบรม  นอกจากนี้แล้วยังมีการเตรียมด้านอาคารสถานที่    โดยมีการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่แล้วให้อยู่สภาพที่ดีด้วยการทาสีใหม่  ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด  นอกจากนั้นยังได้ทำสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้ดูสวยงาม  สะอาด  เป็นระเบียบ  และร่มรื่น  เช่น  มีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ  และการจัดสวนย่อมหน้าอาคารเรียน  จัดตั้งตะเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อนไว้ตามใต้ต้นไม้ใต้อาคารเรียน
                2.  ปัญหาในการเตรียมความพร้อมในการใช้หลักสูตร  สรุปๆได้ดังนี้
                1)  ครู  นักเรียน  ไม่มีความพร้อมและปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้  นอกจากนี้ผู้ปกครองยังไม่เห็นความสำคัญและยังไม่มีความรู้  ความเข้าใจเทาที่ควร
                2)  หน่วยงานต้นสังกัด  ไม่มีงบประมาณที่สนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการใช้หลักสูตร
                3)  ครูผู้สอนมีเวลาจำกัดในการศึกษาทำความเข้าใจกับเนื้อหาในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้  ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  2544 
          4)  ครูผู้สอนบางส่วนยังไม่ได้รับการอบรมการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  2544 
จึงทำให้บุคลากรในโรงเรียนมีความเข้าใจไม่ตรงกัน
                5)  การประสานงานกันระหว่างหน่วยงานย่อยและหน่วยงานต้นสังกัดไม่เป็นระบบจึงทำให้ได้รับข่าวสารต่าง ๆ   เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการใช้หลักสูตรล่าช้า

                                2.  สภาพและปัญหาในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
                1.  สภาพการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
          หลังจากได้รับการอบรมการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2544  แล้วโรงเรียนก็ได้เริ่มจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  ในช่วงเดือนเมษายน  พ.ศ. 2545  เพื่อจะนำไปใช้ในปีการศึกษา 2545  โดยมีลำดับขั้นตอนในการดำเนินงานที่โรงเรียนปฏิบัติ  ดังต่อไปนี้
                                1)  แต่งตั้งคณะกรรมการการบริหารหลักสูตรสถานศึกษา  และคณะกรรมการและอนุกรรมการประจำกลุ่มสาระเพื่อวิเคราะห์หลักสูตรและจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
                                2)  การประชุมปฏิบัติการระหว่างคณะครู  และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  เพื่อร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์  ภารกิจ  เป้าหมายของสถานศึกษา  และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
                                3)  ผู้บริหารและครูประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อกำหนดโครงสร้างของหลักสูตรสถานศึกษา  ประกอบด้วย  สาระการเรียนรู้/ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายวิชา  กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  กำหนดเวลาของแต่ละกลุ่มสาระ  แล้วแบ่งหน้าที่ให้ครูรับผิดชอบ  ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้เป็น 8 กลุ่มสาระกับ 1  กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
                                4)  คณะครูที่รับผิดชอบแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ร่วมกันคิดวิเคราะห์สาระการเรียนรู้ในหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อจัดทำสาระของหลักสูตร  ประกอบด้วยกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค  กำหนดสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค  กำหนดเวลาและจำนวนหน่วยกิจ จัดทำคำอธิบายรายวิชา  หน่วยการเรียนรู้  และจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้             การวัดและประเมินผลการเรียนรู้  และจัดทำสื่อการเรียนรู้
                                5)  พัฒนาและนำไปใช้ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 4 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
                                6)  นำเสนอร่างหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา
                2.  ปัญหาในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  สรุปได้ดังนี้       
                                1)  มีระยะเวลาในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาน้อยเกินไป  ทำให้ได้หลักสูตรสถานศึกษาที่มีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไขอยู่มาก
                                2)  ครูผู้สอนไม่มีความเข้าใจในการทำแผนจัดการเรียนรู้แบบใหม่
                                3)  เนื้อหาในบางกลุ่มสาระการเรียนรู้มีมากเกินไป  ไม่เป็นไปตามลำดับความยากง่าย
                                4)  ครูผู้สอนไม่มีเวลาสำรวจหาแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น
                                5)  สถานศึกษาไม่มีความเข้าใจในการจัดทำหลักเกณฑ์  และแนวปฏิบัติในการวัดและประเมินผล  ตลอดจนการจัดทำเอกสารการประเมินผลการเรียนรู้ต่าง ๆ

                                3.  สภาพและปัญหาในการดำเนินการใช้หลักสูตร
          1.  สภาพการดำเนินการใช้หลักสูตร
                                1)  ด้านการจัดการเรียนรู้  ครูผู้สอนจากโรงเรียนนำร่องและโรงเรียนครือข่ายส่วนใหญ่จัดการเรียนรู้ที่เน้นกิจกรรมการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นสำคัญ  โดยครูผู้สอนคอยให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน  นอกจากนั้นยังผู้เรียนปฏิบัติด้วยตนเองมากที่สุด  ส่งเสริมให้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง  เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม  และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ออกไปแสวงหาความรู้จากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในโรงเรียนและท้องถิ่น  นอกจากนี้ครูผู้สอนได้สอนแบบบูรณาการทั้งภายในกลุ่มสาระเดียวกันและต่างกลุ่มสาระ
                                2)  ด้านการพัฒนาสื่อการเรียนรู้  ส่วนใหญ่ครูผู้สอนเป็นผู้ผลิตขึ้นเอง  มีบางส่วนที่ผู้เรียนและผู้สอนร่วมกันจัดทำขึ้น  โดยสื่อการเรียนรู้ที่ผลิตขึ้นส่วนใหญ่ประยุกต์มาจากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น  บางเนื้อหาก็ได้ใช้ห้องปฏิบัติการที่มีสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย
                                3)  ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้  ครูส่วนใหญ่ใช้หลายวิธี  เช่น  การตรวจผลงาน  การสังเกตพฤติกรรม  การทดสอบ  และการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง
                2.  ปัญหาในการดำเนินการใช้หลักสูตร  สรุปได้ดังนี้
                                1)  ไม่มีหนังสือเรียน และเอกสารคู่มือครูที่ต้องใช้ประกอบการเรียนการสอน  เนื่องจากสถานศึกษาจัดทำหลักสูตรขึ้นเอง  จึงยังไม่มีหนังสือเรียนที่สอดคล้องกับหลักสูตรดังกล่าว
                                2) ครูผู้สอนไม่มีความรู้ความเข้าใจในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบใหม่  โดยเฉพาะแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ  ตลอดจนไม่มีความรู้  ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย
                                3)  ไม่มีเวลาในการเตรียมการสอน  เตรียมสื่อการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
                                4)  การจัดการเรียนรู้ที่มีการหมุนเวียนสอนเป็นกลุ่มสาระ  ทำให้ผู้เรียนขาดระเบียบวินัย
                                5)  ไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อสื่อวัสดุเทคโนโลยีใหม่ๆ
                                6)  ครูยังไม่เข้าใจในการกรอกข้อมูลและข้อกำหนดของเอกสารประเมินผลตามหลักสูตร
          3.  ปัญหาด้านครู
1)  ครูขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวหลักสูตร และขาดหลักสูตรกับเอกสารประกอบหลักสูตร  เช่น  คู่มือการใช้หลักสูตร  ฯลฯ  ทำให้การสอนของครูไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
2)  ครูไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตร  ยังคงยึดวิธีการสอนแบบ  ยึดตัวครูเป็นศูนย์กลาง  ในการสอน
3)  ครูไม่มีเวลาศึกษาหลักสูตรก่อนสอน
                4.  ปัญหาด้านผู้บริหาร
                                1)  ผู้บริหารมีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรน้อย  ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ดีเท่าที่ควร
                                2)  ผู้บริหารไม่มีความรู้ความสามารถในการนิเทศและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรแก่ครู  และนิเทศได้ไม่ทั่วถึงและไม่ต่อเนื่อง
                                3)  ผู้บริหารไม่ให้การสนับสนุนการใช้หลักสูตรของคณะครู  เช่น  การจัดหาเอกสารหลักสูตร  ประเภทต่าง ๆ  และการจัดหาจัดทำวัสดุ  อุปกรณ์การเรียนการสอนให้เพียงพอต่อความต้องการของครู  การจัดครูเข้าสอนไม่เหมาะสม  การไม่ได้สนับสนุนพัฒนาบุคลากรในโรงเรียนเป็นต้น
                5.  ปัญหาด้านหน่วยงานส่วนกลาง   ระดับจังหวัด  และระดับอำเภอ
                                1)  ส่งเอกสารหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตรล่าช้า  และไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงเรียน
                                2)  ขาดการประชาสัมพันธ์หลักสูตร  โดยเฉพาะกับผู้ปกครอง  ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือ  เกี่ยวกับการใช้หลักสูตร
                                3)  ขาดงบประมาณที่จะใช้สนับสนุนการใช้หลักสูตร
                                4)  การฝึกอบรมให้ความรู้  และทักษะเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้แก่ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องยังไม่ทั่วถึง และไม่ตรงกับความต้องการของครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง


บรรณานุกรม

ใจทิพย์  เชื้อรัตนพงษ์.  การพัฒนาหลักสูตร: หลักการและแนวปฏิบัติ .กรุงเทพฯ:
            อลีน เพส.2539
ธำรง  บัวศรี.  ทฤษฎีหลักสูตร : การออกแบบและพัฒนา. กรุงเทพฯ : ธนธัชการพิมพ์            ,2542.
บุญมี   เณรยอด.  หลักการพัฒนาหลักสูตร. ภาควิชาบริหารการศึกษา  คณะครูศาสตร์           จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
พิสมัย  ถีถะแก้ว.  หลักสูตรประถมศึกษา.  กรุงเทพฯ : ฝ่ายเอกสารและตำราสถาบันราช      ภัฏสวนดุสิต.2537.
สันต์  ธรรมบำรุง.  หลักสูตรและการบริหารหลักสูตร.  กรุงเทพฯ : เกรียงศักดิ์การพิมพ์.        2525.
นิติพร  อินทรสิทธิ์.  สภาพและปัญหาในการใช้หลักสูตรหารศึกษาขั้นพื้นฐาน           พุทธศักราช 2544  ของโรงเรียนนำร่องและโรงเรียนเครือข่าย  สังกัดสำนักงาน     การประถมศึกษา  จังหวัดสกล.มหาวิทยาลัยขอนแก่น.2546. 

.................................................

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น