@ติดต่อ mcu_53@hotmail.com@ @ขออภัยกำลังปรับปรุง@

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธศาสนา กับวิกฤตการณ์ผู้นำทางสังคม

พระพุทธศาสนา
กับวิกฤตการณ์ผู้นำทางสังคม

พระณัฐพร  กุสลจิตฺโต
ครุศาสตร์ ปี 3
ปัญหาสังคมไทยในปัจจุบันเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกลงสู่รากแก้วแห่งหุบเหวทางจิตวิญญาณของประชาชนคนไทย ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางความคิดความเห็นของกลุ่มบุคคลที่ต่างเห็นว่าความคิดและการกระทำของตนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด  เที่ยงตรงที่สุด  ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นความเห็นที่ผิดเป็นการกระทำที่ผิด  ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นแตกต่างกัน   ต่างฝ่ายต่างไม่หันหน้าเข้าหากัน ไม่พูดคุยกันเพื่อปรับความเข้าใจหรือเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องร่วมกัน  ทว่า  ทั้งสองฝ่ายกลับมองเห็นอีกฟากฝั่งหนึ่งเป็นศัตรูคู่อริ  คิดแค้นเคืองกัน  บริภาษกันด้วยถ้อยคำอันหยาบคาย  ใช้กำลังประทุษร้าย   พยายามพูดปลุกเร้ามวลชนให้เข้าร่วมอุดมการณ์ที่กลุ่มตนนั้นยึดถือ   ใช้มวลชนในการอ้างความชอบธรรมต่อรองผลประโยชน์จากรัฐ   นอกจากนั้นแล้วยังยุยงมวลชนให้กระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายโดยใช้คำว่า  “อารยะขัดขืน”   โน้มน้าวมวลชนของตนว่านี่คือการชุมนุมแบบสันติอหิงสาที่ทั่วโลกยอมรับได้    เป็นการไม่เบียดเบียนใคร  เป็นหนทางแห่งชัยชนะ  เป็นหนทางที่ผู้เจริญแล้วทำกัน  ที่สำคัญได้นำคำว่าประชาธิปไตยมาเรียกร้อง  แต่ในความเป็นจริงแล้วหลักการและวิธีการดังกล่าวส่งผลกระทบเสียหายให้คนหมู่มาก ซึ่งจากหลายเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้เขียนในฐานะที่เป็นพระภิกษุรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนาผู้มีอุดมการณ์ทางความคิดประการหนึ่งว่า  อยากเห็นสังคมที่ตนได้ร่วมชายคาอาศัยนั้นมีความสงบสุข ประชาชนภายในชาติมีเมตตาอารี ให้อภัยซึ่งกันและกัน  ที่สำคัญอยากให้ประชาชนชาวไทยรู้จักใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญความจริงและความถูกต้องในการแก้ไขปัญหามากกว่าการใช้กำลังประทุษร้าย   ประพฤติตนให้สมกับที่ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ผู้เขียนใคร่ขอนำหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนามาเทียบเคียงกับวิกฤตการณ์[๑] ดังกล่าว พร้อมทั้งพยายามหาแนวทางในการแก้ไขตามหลักพุทธวิธีที่ผู้เขียนเห็นว่าสอดคล้องกันกับสภาพความเป็นจริง

สังคมปมปัญหา
ในช่วงสถานการณ์การเมืองร้อนระอุ ประชาชนตกอยู่ในสภาวะจิตถดถอย จากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างคนไทยด้วยกันเอง  การเกิดสงครามขนาดย่อมกลางเมืองกรุง  เหตุการณ์นองเลือดของคนไทย ที่ตกต้องผืนแผ่นดินโดยน้ำมือของคนชาติเดียวกันเอง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีต้นเหตุมาจากปัญหาความขัดแย้งของบุคคลสองกลุ่มเป็นสำคัญ  จนเป็นบ่อเกิดให้ปัญหาทางการเมืองที่หมักหมมมานานได้ปะทุขึ้น  เสมือนหนึ่งว่า ปัญหาความขัดแย้งของบุคคลทั้งสองกลุ่มนั้นเป็นตัวจุดระเบิดให้ปัญหาการเมืองระเบิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาทั้งหลายทั้งปวง  เกิดจากผู้นำทางความคิดหรือเรียกให้ร่วมสมัยก็คือ  “แกนนำ”  เป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างแบบสุดโต่ง (หรืออีกนัยหนึ่ง  มีอุดมการณ์เหมือนกันแต่ต่างกันตรงที่วิธีการ) คอยปลุกปั่นมวลชนให้มีความคิดความเห็นตามที่ตนเชื่อและยึดถือ โดยอ้างเหตุผลนานัปการทั้งที่จริงบ้าง  ปรุงแต่งขึ้นบ้าง  มาแสดงให้กับผู้ฟังหรือผู้ร่วมชุมนุมได้เห็นพ้องกับทัศนะของตนเอง  เพื่อทำให้ผู้ชุมนุมมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมเป็นแนวทางเดียวกัน  เมื่อมวลชนมีอุดมการณ์ร่วมกันแล้ว  ทำให้มวลชนเกิดความเข้มแข็ง ผู้ร่วมชุมนุมก็จะทำตามผู้นำโดยไม่มีเงื่อนไข  หลังจากนั้นผู้นำจะนำพาให้เป็นไปในแนวทางที่ตนต้องการได้โดยง่าย  ไม่ว่าหนทางและวิธีการนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม  ขอเพียงให้มีกฎหมู่เป็นกลไกเท่านั้นเป็นพอ  เพราะแกนนำคิดกับผู้ร่วมชุมนุมแค่หมากตัวสำคัญในการเข้าถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้เท่านั้นเอง
ผู้นำในเรือนธรรม
จริงอยู่ที่สังคมและประเทศชาติต้องการผู้นำ  แต่ก็ต้องการผู้นำที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีวุฒิภาวะ  นำพาไปในทางที่ชอบธรรม  คอยหาวิธีในการช่วยเหลือสังคม  เสียสละเพื่อส่วนร่วม  ในทางตรงกันข้าม  ถ้าผู้นำขาดความชอบธรรม  ไร้ซึ่งวุฒิภาวะ  นำพาไปในทางเสื่อม  ผู้ตามก็จะตกกระไดพลอยโจนไปด้วย  เนื่องจากต้องตกอยู่ในสถานการณ์บังคับให้ต้องเลือกข้าง  บทบาทของผู้นำจึงเป็นบทบาทสำคัญที่สังคมไทยต้องการ  หลักทศพิธราชธรรม (การบริหารบ้านเมือง) และหลักธรรมาภิบาล (GOOD GOVERNANCE) จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอย่างกว้างขวาง  ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากที่เรามีพระบาทสมเด็จ

พระเจ้าอยู่หัวที่ทรงทศพิธราชธรรม  แต่เรากลับมีนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอรัปชั่น    ภาวะผู้นำหรือผู้นำที่สังคมไทยต้องการและจำเป็นต้องมีนั้น ควรมีลักษณะอย่างไรจึงจะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญและสงบสุขได้
ในที่นี้ผู้เขียนขอเสนอหลักปฏิบัติของผู้นำ ๑๐  ข้อ แบบร่วมสมัยที่ผู้เขียนเชื่อว่าผู้นำประเทศทุกยุคทุกสมัยนำไปใช้ได้  เพียงแต่ว่าต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงมิใช่แค่อยู่ในหน้ากระดาษเท่านั้น  กล่าวคือ
๑)      เป็นผู้ให้  ไม่ใช่ผู้กอบโกย  (ทานํ)
๒)    เป็นผู้มีจริยธรรม  คือมีความประพฤติที่ถือเอาเป็นต้นแบบได้  (สีลํ)
๓)    เป็นผู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน  (ปริจฺจาคํ)
๔)    เป็นผู้มีสุจริตโปร่งใส  (อาชฺชวํ)
๕)    เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน  ดังหนึ่งเป็นข้าช่วงใช้ของประชาชน  (มทฺทวํ)
๖)     เป็นผู้ฝึกตนให้ลอยพ้นเหนือผลประโยชน์และอคติทั้งปวง  (ตปํ)
๗)   เป็นผู้ไม่ลุแก่อำนาจ  (อกฺโกธํ)
๘)    เป็นผู้ไม่เบียดเบียนประชาชนทั้งโดยอำนาจ/กฎหมาย/ภาษีที่ไม่ชอบธรรม      (อวิหิงฺสา)
๙)    เป็นผู้อดทนต่องานหนัก/ต่อการวิพากษ์วิจารณ์/ต่อการยั่วยุให้ลุแก่อำนาจ  (ขนฺติ)
๑๐)             เป็นผู้ถือธรรม  (นิติธรรม/เนติธรรม/สัจธรรม)  เป็นอำนาจเป็นธงชัย       ในการบริหารราชการแผ่นดิน (อวิโรธนํ)[๒]
ในเมืองไทยของเรานั้น ชอบอ้างนักว่าธรรมะไม่เกี่ยวกับการเมือง คนที่นิยมกล่าวอ้างเช่นนี้  แสดงว่าขาดความรู้ทั้งทางธรรมและทางการเมืองเพราะในความเป็นจริงนั้น  ธรรมะจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเมือง  เนื่องจาก  “การเมืองที่ไม่มีธรรมะ  ก็เท่ากับประเทศชาติไม่มี

ความเจริญ”  เพราะเมื่อนักการเมืองไม่มีธรรมะ  เขาจะนำพาเอาประเทศชาติฉิบหายไปด้วย  มีนักการเมืองคนหนึ่งได้กล่าวออกสื่อว่า  “ผมไม่ได้รับมอบหมาย  ให้มาพูดเรื่องจริยธรรม”  ประโยคนี้ถือเป็นประโยคทองที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า  ความเป็นผู้นำของนักการเมืองไทยบางคนไม่ได้ผูกโยงกับหลักของศีลธรรมอันดีงาม  เมื่อนักการเมืองเลือกที่จะปฏิเสธการยอมรับศีลธรรมฉันใด  นั่นก็แสดงให้เห็นว่า  นักการเมืองเลือกที่จะยอมรับการทุจริตคอรัปชั่นว่าเป็นเรื่องปกติวิสัยฉันนั้น  หากประเทศไทยมีนักการเมืองหรือผู้นำที่ปราศจากธรรมะเป็นแนวทางในการทำงานแล้ว  ประเทศไทยย่อมมีโอกาสสูงที่จะตกต่ำไปมากกว่านี้  ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ  เพียงแค่หยิบยกเรื่องจริยธรรมมาเป็นเครื่องชี้วัดระดับความโปร่งใส  ประเทศไทยก็แพ้ตั้งแต่ในมุ้งแล้ว
เมื่อประมวลปัญหาต่างๆแล้ว รากเง้าแห่งปัญหานั้นก็หนีไม่พ้นอกุศลมูล    ที่ทำร้ายสังคมไทยเรามาอย่างยาวนานและเพิ่งเห็นชัดเจนเมื่อปัญหานั้นปะทุขึ้นมา  ได้แก่[๓]
๑)      ความโลภ       หรือ   ความอยากไม่รู้จักจบสิ้น
๒)     ความโกรธ      หรือ  ความลุแก่อำนาจ
๓)     ความหลง       หรือ  กระบวนทัศน์การพัฒนาคนหรือประเทศที่ผิดพลาด
กิเลส    ตัวนี้ บางทีมีสรรพนามว่า  ตัณหา  มานะ  ทิฐิ  หากนำมาประยุกต์ให้ร่วมสมัย  ก็จะพบว่า  ไม่ใช่กิเลสตัวใหม่แต่อย่างใดในสังคมไทย  เพราะแท้จริงแล้ว
๑)     ตัณหา   ก็คือ  ระบบทุนนิยม  (กำไรสูงสุด/กระตุ้นให้อยาก-ยั่วให้ซื้อเกินจำเป็น)
๒)    มานะ    ก็คือ  ระบบอำนาจนิยม  (บ้าอำนาจ/โลกาภิวัตน์/ชาตินิยม)
๓)    ทิฐิ ก็คือ ระบบทุนนิยม(ความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุคือคำตอบสุดท้ายของชีวิต)
พระพุทธเจ้าในฐานะผู้นำ
       การได้ศึกษาพุทธจริยาของพระพุทธเจ้าผ่านพระไตรปิฎก  ทำให้เราได้ทราบคุณสมบัติความเป็นผู้นำมาด้วยโดยปริยาย  คุณสมบัติเหล่านั้นแทรกแฝงอยู่ในทุกเหตุการณ์

ทุกเรื่องราว  ไม่ใช่เรื่องที่จะไปถามผู้นำว่า  คุณสมบัติที่ดีของผู้นำคืออะไร  เป็นเรื่องของผู้มองจากภายนอกที่จะต้องสรุปเองว่าคุณสมบัติใดบ้างที่คนๆหนึ่งมี ที่ทำให้เขามีความเป็นผู้นำ 
       พระพุทธเจ้าเคยถูกประทุษร้ายทั้งทางกายและวจีกรรม  เช่น  ถูกท้าทายลองดีโดยพวกต่างลัทธิ  ถูกยั่วยุให้โกรธหรือให้ละทิ้งความตั้งใจ  ถูกใส่ร้ายป้ายสีโดยผู้มีจิตริษยา  ถูกปองร้ายโดยผู้ใกล้ชิด  ในการบริหารงานภายใน บางครั้งก็มีภิกษุหัวแข็งไม่เชื่อฟัง  ทะเลาะกันเองให้วุ่นวาย  หรือแม้กระทั่งมีผู้คิดจะแบ่งแยกสงฆ์ออกเป็นสองฝ่าย  พระพุทธองค์ทรงใช้วิธีการต่างๆกันในการแก้ปัญหา  ขึ้นอยู่กับโอกาสและลักษณะของปัญหา  เช่น 
       การกล่าวร้ายป้ายสีของพวกลัทธิอื่นในกรุงสาวัตถี  หรือการรุมด่าว่าที่ทรงประสบในกรุงโกสัมพี  ทรงใช้วิธีกล่าวเตือนสติแต่ไม่โต้ตอบ  เรื่องร้ายก็คลายไป
       การทะเลาะกันเองของภิกษุชาวเมืองโกสัมพี  เมื่อพระพุทธเจ้าห้ามแล้วไม่มีภิกษุฝ่ายใดยอมฟัง  ก็เสด็จปลีกพระองค์ออกไปอยู่ป่า  จนกระทั่งชาวเมืองหันมาประท้วงพระภิกษุผู้ช่างทะเลาะ เหตุที่ไม่พอใจเพราะพระภิกษุเหล่านี้ทะเลาะกันจนทำให้พระพุทธเจ้าหลีกพระองค์ไปอยู่ป่า เมื่อภิกษุเหล่านั้นสำนึกได้  เรื่องจึงคลี่คลายลง
       การวางท่าทีต่อคำถามของวัสสการพราหมณ์  ซึ่งถามเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การเมือง  พระองค์ชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งของแคว้นวัชชี  หมายความว่า  แทนที่พระพุทธองค์จะตรัสว่ายุทธศาสตร์การรบคืออะไร  พระองค์กลับว่า  การจะสร้างเมืองให้เข้มแข็งต้องทำอย่างไร เพราะเมื่อชุมชนเข้มแข็งแล้ว ทุกอย่างไม่ว่า  ด้านการศึกษา  สังคม   การเมืองการปกครอง  เศรษฐกิจ  ก็เข้มแข็งไปด้วย  เมื่อเป็นเช่นนั้น  จะไม่มีใครสามารถทำลายได้  หรือจะไปทำลายเขาก็ไม่ได้  โดยชี้ให้วัสสการพราหมณ์เห็นตัวอย่างและเข้าใจในยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งนั้น ผ่านการสนทนากับพระอานนท์ถึงอปริหานิยธรรมที่ชาวแคว้นวัชชีถือปฏิบัติอยู่ 
การศึกษาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า   ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้  ในภาพรวมเป็นเครื่องเตือนให้เห็นว่าแม้แต่พระศาสดาผู้เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณก็ยังประสบปัญหานานาประการจากบุคคลที่ยังมีกิเลสครอบงำจิตใจ   พระองค์ทรงใช้พระปรีชา

ญาณในการแก้ไขปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดีพร้อมทั้งยังชี้แนะแนวทางสันติสุขให้กับประชาชนด้วย
การหันมาดูพุทธวิธีในการแก้ปัญหาและตัดสินใจ  ซึ่งพระพุทธองค์ทำด้วยปัญญาคุณ  และพระมหากรุณาคุณ  อาจจะทำให้ผู้นำตัดสินใจในเรื่องต่างๆโดยใช้อารมณ์น้อยลง  มีสติและความรอบคอบมากขึ้น  ทว่า  เราต้องไม่ลืมว่าการกระทำต่างๆของพระพุทธเจ้า  มิได้ใช้วิธีการอันมิชอบตามทำนองคลองธรรม  พุทธวิธีเป็นวิธีที่มีพระบริสุทธิคุณรองรับอยู่  การที่ผู้นำยังมีกิเลสอยู่  ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะล้มเลิกความตั้งใจใช้พุทธวิธีเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและตัดสินใจ  แต่ควรจะเป็นเรื่องที่ทำให้เรารู้เท่าทันระมัดระวัง  และพยายามลดกิเลสลงบ้าง  ลดความเห็นแก่ตัวลงบ้าง  มองผลที่จะเกิดกับประชาชน และสังคมโดยรวมให้มากขึ้น  โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในฐานะผู้นำ ควรยึดหลักธรรมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ  ก่อนที่ปัญหานั้นๆจะเปลี่ยนระดับกลายเป็นวิกฤติของคนในชาติ  ถ้ากระทำได้เช่นนั้น  ผลของการกระทำอันดีงามและเที่ยงตรงก็ไม่สูญหายไปไหนแน่นอน ผลจากการกระทำนั้นจะส่งผลย้อนกลับมาเป็นความเจริญอย่างยั่งยืน  ความสงบร่มเย็นของประชาชนภายในชาติ  รวมทั้งความสงบสุขในสังคมโลกสืบไป










บรรณานุกรม
ว.วชิรเมธี. การเมืองเนื่องในธรรม. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจ,๒๕๕๒.
นวพร  เรืองสกุล. ๒๖ ศตวรรษ พระพุทธเจ้าสุดยอด ซี.อี.โอ..
กรุงเทพฯ : บริษัทซีเอ็ดยูเคชั่นจำกัด(มหาชน),๒๕๔๙.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒.
กรุงเทพฯ : นานมีบุคส์ พับลิเคชั่น,๒๕๔๖.
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก.
กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑


เขียนได้สองวิธี   วิกฤตการณ์ (วิ-กริด-ตะ-กาน) กับ วิกฤติการณ์ (วิ-กริด-ติ-กาน)  เป็นคำนาม  หมายถึง  เหตุการณ์อันวิกฤติ    พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒
[๒]ว.วชิรเมธี. การเมืองเนื่องในธรรม. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจ,๒๕๕๒. (หน้า ๒๖)
[๓] ว.วชิรเมธี. การเมืองเนื่องในธรรม. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจ,๒๕๕๒.(หน้า ๗๘)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น