@ติดต่อ mcu_53@hotmail.com@ @ขออภัยกำลังปรับปรุง@

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎีหลักสูตร (Curriculum Theories)



ทฤษฎีหลักสูตร (Curriculum Theories)

จากความหมายต่าง ๆ ของหลักสูตร การวางแผนพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องอาศัยความเชื่อและทฤษฎีต่าง ๆ ทางการศึกษาซึ่งมีนักการศึกษา ได้กำหนดไว้หลายแนว ดังนี้ 

1. หลักสูตรเป็นวิชาและเนื้อหาวิชา ผู้มองหลักสูตรในแนวนี้คือ ผู้ที่ยึดลัทธิสัจนิยม(Perennialism) และสาระนิยม (Essentialism) ตลอดจนผู้ที่ถือว่าการศึกษาคือการฝึกวินัยทางจิต (Mental Discipline) ซึ่งเห็นว่าหลักสูตรในโรงเรียนควรประกอบด้วยวิชาที่สำคัญที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณลักษณะแห่งความเป็นมนุษย์และเป็นการฝึกสมอง เช่น วิชาที่ยาก ๆ โดยเฉพาะการศึกษาโครงสร้างของวิชาต่าง ๆ ที่จัดเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน เช่น โครงสร้างของวิชาคณิตศาสตร์เป็นตรรกศาสตร์ โดยเฉพาะการหาเหตุผลแบบอนุมาน ข้อสังเกตสำหรับการกำหนดหลักสูตรในแนวนี้ คือ ไม่ได้ให้ความสนใจและความสำคัญในผู้เรียน (ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร) 

2. หลักสูตรเป็นประสบการณ์ ยึดลัทธิก้าวหน้านิยม (Progressivism) โดยเชื่อว่าวัฒนธรรมคือ สิ่งแวดล้อมของสังคม คนจะต้องยอมรับสภาพของสังคม และปรับสภาพสังคมให้ดีขึ้น จึงยึดหลักนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (child centered) โดยดูความสนใจของผู้เรียนเป็นหลักในการสอนและการจัดประสบการณ์ให้เขา หลักสูตรจึงหมายถึงประสบการณ์ทั้งมวลที่นักเรียนพึงจะได้รับภายใต้การนำของครู 

3. หลักสูตรเป็นจุดประสงค์ ถือว่าการสอนเป็นหนทางอย่างหนึ่งที่จำนำไปสู่จุดประสงค์ที่กำหนด 

4. หลักสูตรเป็นแผนการ หลักสูตรคือแผนการที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เกิดจากความตั้งใจและคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยเพ่งเล็งไปที่จุดมุ่งหมายของการศึกษา รวมถึงการจัดวางหลักสูตรการนำหลักสูตรไปใช้ในด้านการปฏิบัติ คือ การสอน และการประเมินผลหลักสูตรเพื่อให้เหมาะกับสภาพท้องถิ่น 

5. หลักสูตรเป็นระบบการผลิต มองการให้การศึกษาเช่นเดียวกับระบบการผลิตสินค้า โดยคำนึงถึงทุนที่ได้ลงไปกับผลที่ตามออกมา จึงพยายามทำหลักสูตรให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด เช่น เขียนในรูปจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม มีการวิเคราะห์งาน วิเคราะห์กิจกรรมดังเช่น หลักสูตรระดับมัธยมศึกษา พ.ศ. 2521 

นอกจากทฤษฎีข้างต้นแล้วยังมีทฤษฎีที่สำคัญที่เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ประกอบ ด้วย 5 ทฤษฎี ดังนี้ 

1. ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุข มีจุดประสงค์จะหาวิธีเรียนแบบใหม่ที่ทำให้ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกสนานทุกครั้ง 
ทุกชั่วโมง ผู้เรียนมาโรงเรียนด้วยความตื่นเต้นและมุ่งมั่น อยากรู้ในสิ่งที่เขายังไม่รู้ อยากทำในสิ่งที่เขาไม่เคยทำ อยากเป็นในสิ่งที่เขายังไม่เคยเป็น 

2. ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม จุดเน้นของการเรียนเรียนรู้ คือ การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางด้านจิตใจ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง ได้รับการฝึกฝนทักษะชีวิตต่างๆ การแสวงหาความรู้ การคิด การจัดการความรู้ การแสดงออก การสร้างความรู้ใหม่ และการทำงานกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาให้เป็นทั้งคนเก่ง คนดี และมีความสุข 

3. ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด มีจุดประสงค์ให้เป็นแนวทางสำหรับครูนำไปใช้ฝึกผู้เรียนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพในการคิด แบ่งทักษะการคิดออกเป็น 2 ระดับ คือ ทักษะการคิดขั้นพื้นฐานและทักษะการคิดขั้นสูง 

4. ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย : ศิลปะ ดนตรี กีฬา เพื่อเป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนวิชาศิลป ดนตรี และพลศึกษาแก่ครู ซึ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ทุกด้าน 

5. ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย: การฝึกฝน กาย วาจา ใจ เพื่อพัฒนาลักษณะนิสัยเด็กไทย คือ มีมรรยาทและวิถีแห่งการปฏิบัติตนทางกาย วาจา ใจ มีสติสัมปชัญญะเพื่อการครองตน ไม่ถลำไปสู่ความชั่ว มีคุณธรรม มีความรักในเพื่อมนุษย์และธรรมชาติ การสร้างลักษณะนิสัยดังกล่าวต้องใช้กลยุทธ์การสอน 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น